“เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” มีชื่อกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต้นรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราวปี พ.ศ.2091 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า “สุวรรณหงส์” ดังทราบได้จากบทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ฯ ที่ว่า “สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์ เพียงหงส์ทรงพรหมมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม” ในหนังสือตำนานเรือรบไทยพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวไว้ว่าเรือศรีสุพรรณหงส์สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชตามจดหมายเหตุเมื่อปี พ.ศ.2370 มีหมายรับสั่งให้จัด “เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์”เป็นเรือทรงพระบรมธาตุที่ได้มาจากเวียงจันทน์ ในจดหมายเหตุในรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 เรียกชื่อเรือนี้ว่า “เรือศรีสุพรรณหงส์” เรือศรีสุพรรณหงส์ได้ชำรุดทรุดโทรมเรื่อยมา และได้รับการซ่อมแซมมาหลายครั้งเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน เป็นเรือพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ต่อขึ้นใหม่เพราะเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ลำเดิมผุพังเกินที่จะซ่อมได้ แต่มาเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเปลี่ยนชื่อเป็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีพลตรีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนายช่าง ประกอบพิธีลงน้ำเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2454 และเมื่อปี พ.ศ.2535 โรงแรมอเล็กซานเดอร์ ได้รวบรวมช่างแกะสลักซึ่งเป็นอาจารย์และคณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้านงานศิลปะการแกะสลักไม้ มาร่วมกันดำเนินการจัดทำงานศิลปะแกะสลักจากพระบรมฉายาลักษณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงประทับเรือสุพรรณหงส์ ได้แกะลงบนไม้สักหนา 4 นิ้วเรียงต่อกันทั้งหมด 8 แผ่น ได้ขนาดความกว้าง 360 เซนติเมตร ยาว 1,280 เซนติเมตร มีความงดงามประจักษ์ต่อผู้ได้ชมเป็นอย่างยิ่ง